Week 8

สัปดาห์ที่ 8 ของการเรียนรู้ Quarter3/59

 



          เมื่อวันพุธ ที่ 14 ธันวาคม 59 ที่ผ่านมา ได้มีโอกาสไปเรียนรู้นอกสถานที่ พร้อมๆ กับพี่ป.1 ที่ศูนย์การเรียนรู้เครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียน ส่วนตัวเคยผ่านทางด่านเกวียนหลายครั้งมาก แต่ไม่เคยเข้าไปดูด้านในเลยสักครั้ง ครั้งนี้จึงเป็นโอกาสดีๆ ที่จะได้เรียนรู้การปั้นดินจริงๆ สักครั้ง
          เราเริ่มเดินทางประมาณ 7.30 น. ไปทางเส้นนางรอง – หนองกี่ เข้าโชคชัย เลี้ยวขวาไปด่านเกวียน ในระหว่างที่นั่งรถไป กิจกรรมที่เกิดในรถ คือพี่ๆ ตื่นเต้นจนพูดคุยกันไม่หยุด มีหยิบสมุดบันทึกออกมาบันทึกตั้งแต่รถออกก็มี นำหนังสือมาอ่านระหว่างการเดินทางก็มี พี่ๆ ทุกคนตื่นเต้น และพร้อมที่จะเรียนรู้มากๆ
          มาถึงก็เข้าชมในศูนย์การเรียนรู้เครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียน ได้เห็นเครื่องปั้นดินเผาที่เป็นเอกลักษณ์ของที่นี่ คือดินจะเป็นสีออกแดงๆ และสีดำ น้ำตาลๆ ด้วยความที่ดินของที่นี่มีธาตุเหล็กอยู่เยอะ ดินจึงเป็นเอกลักษณ์ และเป็นที่ต้องการของตลาดมาจนถึงปัจจุบัน
          จากนั้นได้นั่งรถรางเข้าชมหมู่บ้าน จะเห็นบ้านที่ทำเครื่องปั้นดินเผา และเตาเผาขนาดใหญ่ เรียงกันหลายๆ หลัง และทำกันทั้งหมู่บ้านนั่นเอง เนื่องจากมีเรื่องเกี่ยวกับธุรกิจเข้ามาเกี่ยวข้อง จะเห็นตามถนนด้านข้างในด่านเกวียนจะมีร้านขายเครื่องปั้นที่ทันสมัย และตามกระแสนิยม แต่ก็ยังมีที่ยังเป็นแบบดั่งเดิมอยู่ เป็นหมู่บ้านที่อนุรักษ์การปั้นห้คงไว้ถ่ายทอดต่อรุ่นหลังได้เป็นอย่างดี
          หลังจากที่กลับมาที่ศูนย์อีกครั้ง คร่าวนี้พี่ๆ ได้เรียนรู้การปั้นโดยการใช้แท่นไม้หมุน ดูพี่ๆ ตื่นเต้นกันใหญ่ อยากลองทำกันทุกคน ทำออกมาสวยบ้าง เล็กบ้าง ขาดบ้าง ก็ไม่เป็นไร เพราะทุกอย่าง คือการเรียนรู้ ได้เห็นพี่ๆ กระตือรือร้น ตื่นเต้น และสนุกสนานไปกับการเรียนรู้ก็รู้สึกดีแล้ว
         
 


          ในวันศุกร์ ที่ 16 ธันวาคม 59 ได้เดินทางกลับมาสัมมนาที่มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ช่วงเช้าเข้าสัมมนากับทางคณะครุศาสตร์ หัวข้อ “การดำเนินงาน สรุปปัญหา แนวทางการแก้ปัญหา และการสะท้อนผล” อาจารย์ก็ได้พูดคุยเกี่ยวกับรายละเอียดต่างๆ ที่ควรปฏิบัติในการฝึกวิชาชีพครู เทอม 2 กำหนดส่งงาน และการสิ้นสุดการปฏิบัติงาน รวมไปถึงการพูดคุยกับอาจารย์นิเทศภาควิชาภาษาไทย การติดต่อ ติดตามงาน งานที่ต้องส่ง และการกำหนดวันเวลาในการมานิเทศที่โรงเรียนในเทอมนี้ ซึ่งยังไม่ได้ตกลงกับเพื่อนๆ จึงยังไม่ได้ข้อสรุป
          ช่วงบ่าย ได้มีโอกาสได้ไปสาธิตการนำจิตศึกษา(แปลงร่างเศษดินสอ) และการอ่านวรรณกรรม ไปใช้กับเด็กพิเศษ ที่โรงเรียนสวนหม่อน ซึ่งเป็นโรงเรียนรัฐสอนตั้งแต่อนุบาล – ประถมศึกษา เป็นโรงเรียนที่ใหญ่พอสมควร และมีศูนย์เด็กพิเศษ(เรียนร่วม)อยู่ภายในโรงเรียนด้วย ทางอาจารย์วาระดี จึงลองให้พวกเรา 4 คน นำจิตศึกษามาลองกับเด็กๆ ดู ตอนแรกที่คาดไว้ คือ เขาจะต้องอยู่ไม่นิ่งแน่ๆ จะตั้งใจฟังไหม จะตอบคำถามเราได้หรือเปล่า และสุดท้ายจะลุกขึ้นมาโว้ยวายไหม ผลปรากฏว่าเด็กๆ มีความนิ่ง และตั้งใจฟังดี ช่วงที่ทำจิตศึกษาก็ตอบคำถามได้ เป็นคำตอบง่ายๆ ช่วงที่ให้แปลงร่างต่อเติมเศษดินสอ หลายๆ ต่อเติมได้สวย และเป็นสิ่งที่ตนเองชื่นชม รวมถึงบอกสิ่งที่ตนเองวาดได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่เกินคาดมากๆ ตอนที่เล่านิทานให้ฟังหลายๆ คนตั้งใจฟัง และดูตื่นเต้นไปกับนิทานที่นำมาเล่าด้วย หลังจากเล่าเสร็จก็ถามคำถามง่ายๆ ตัวละครมีใครบ้าง ซึ่งเด็กๆ ก็ตอบได้บ้าง ไม่ตอบบ้าง ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติของเด็กพิเศษ ที่ยังไม่รู้จักกันดีพอ

          จากการไปสาธิตการสอนในครั้งนี้ ส่วนตัวมีความกังวลตั้งแต่อาจารย์บอกให้เตรียมการสอนไปแล้ว เพราะเราไม่รู้ว่าเด็กๆ จะเป็นอย่างไร พิเศษขนาดไหน ความสามารถทำอะไรได้บ้าง คือทุกอย่างดูกังวลไปหมด แต่ดีที่มีเพื่อนๆ ค่อยอยู่ด้วยกัน ปรึกษากันก่อนไป และเตรียมเท่าที่จะทำได้ ผลที่ออกมาก็ถือว่าดีในระดับหนึ่ง ด้วยความที่เรายังไม่รู้จักเขา เขายังเห็นเราเป็นคนแปลกหน้า ผลออกมาขนาดนี้ก็ถือว่าดีพอสมควรแล้ว สำหรับครั้งแรก จะมีครั้งที่ 2 ในตอนที่ไปสัมมนาครั้งที่ 2 ในเดือนกุมภาพันธ์ต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น